บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ https://www.doctorbreastfeeding.com/
เพราะการให้นมแม่ ช่วยลดปัญหากระดูกพรุน โรคกระดูกหักเมื่อเข้าสู่วัยทอง ยิ่งให้นมลูกนาน ยิ่งทำให้กระดูกแม่แข็งแรง เพราะขณะที่แม่ให้นม จะมีการหลั่งฮอร์โมนออกมาซึ่งทำหน้าที่ช่วยพาแคลเซียมที่อยู่ในลำไส้ไปสะสมที่กระดูกได้ดีขึ้น ขณะที่แม่ไม่ได้ให้นมลูก จะไม่มีฮอร์โมนตัวนี้หลั่งออกมา แคลเซียมที่กินเข้าไป จะถูกดูดซึมเข้าร่างกายน้อยกว่า จะสูญเสียออกไปทางลำไส้มากกว่า
เพื่อป้องกันปัญหาลูกที่กินนมแม่ ไม่ให้เป็นโรคภูมแพ้ หรือ แพ้อาหารหลายอย่างเมื่อโตขึ้น คุณแม่จึงไม่ควรกินนมวัว ผลิตภัณฑ์นมวัว นมถั่วเหลือง ทั้งขณะตั้งครรภ์ และ ขณะให้นมลูก แต่ให้เลือกกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้หลากหลาย ตามภาพประกอบ ซึ่งได้แก่ ผักใบเขียว (ผักของไทยก็มีหลากหลายชนิดให้เลือกกิน) ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วฝัก อโวคาโด เมล็ดพืช และ นอกจากกลุ่มพืชแล้ว ยังมีปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง กะปิ เคย ฯลฯ และถ้ากินอาหารเหล่านี้เพียงพอแล้ว แคลเซียมเม็ดก็ไม่จำเป็นแต่อย่างใด
ที่ป้าหมอแนะนำว่า หญิงท้องและหญิงให้นมลูกไม่ควรกินนมถั่วด้วย ก็เพราะว่า ไม่ต้องการให้ไปกระตุ้นให้ลูกในท้องรู้จักโปรตีนตัวนี้มากเกินไป เพื่อที่ว่าหลังจากเลิกนมแม่แล้ว ลูกจะได้กินนมถั่วเหลืองได้โดยไม่แพ้ เพราะแม่หลายคนหลบเลี่ยงการกินนมวัว แล้วเปลี่ยนมากินนมถั่วเพื่อบำรุงครรภ์ หรือใช้คำว่าโด๊ปนั่นเอง ปรากฏว่า ทำให้ลูกที่เกิดมาแพ้ถั่วเหลืองด้วย เมื่อลูกไม่ได้กินนมแม่แล้ว ก็จะหากินนมอื่นยากมากยิ่งขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์นมถั่ว ป้าหมอไม่ได้ห้าม เพราะนมถั่วเหลืองทำมาจากถั่วหลายร้อยเมล็ด ความเข้มข้นมากกว่าการกินพวกผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง แล้วหญิงท้องบางคนก็ตั้งหน้าตั้งตากินนมถั่วเหลืองกันอย่างมากมาย ไปถอยมาเป็นลังๆ ผลที่ตามมาคือ ลูกในท้องจะแพ้ถั่วเหลือง ทำให้นมถั่วเหลืองไม่ได้ในภายหลัง ขณะป้าหมอตั้งครรภ์และให้นมลูก ป้าหมอไม่กินนมถั่วเหลือง พอลูกไม่ได้กินนมแม่แล้ว จึงกินนมถั่วเหลืองได้โดยไม่แพ้ แนะนำให้แม่หากินแคลเซียมจากอาหารชนิดอื่นๆแทน และกินให้หลากหลาย จะได้ไม่กระตุ้นมากเกินไปกับอย่างใดอย่างหนึ่ง อธิบายง่ายๆว่า ห้ามแม่กินเพื่อเปิดทางให้ลูกกินได้ในอนาคต ค่ะ
ป้าหมอให้นมลูกจนอายุเกือบ 7 ขวบ ไม่ได้กินทั้งนมวัว นมถั่ว และแคลเซียมเม็ด แต่ชอบกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงจากพืช ธัญพืช ให้หลากหลาย และมีการออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อไปตรวจมวลกระดูก พบว่าแข็งแรงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3 เท่า