ท่อน้ำนมอุดตัน เมื่อมีอาการบ่งบอกว่าเป็นเต้านมอักเสบ นมมีก้อนแข็งควรปฎิบัติดังนี้
1.อย่าหยุดให้นมข้างที่เป็น เพราะกลัวว่าลูกจะกินไม่ได้
ความจริงคือ ต้องให้ลูกดูดเป็นข้างแรกเสมอ ดูดให้บ่อยขึ้น ปั๊มให้บ่อยขึ้น นมที่ปั๊มอย่าทิ้ง เก็บได้ กินได้ ตามปกติ
จัดท่าให้คางลูกอยู่ตรงตำแหน่งที่เป็นก้อน อาจต้องตีลังกาดูด ถ้าก้อนอยู่ด้านบน (ตามรูปประกอบ)
อาจให้พ่อแปรงฟันให้สะอาด ลองช่วยดูดดูโดยจินตนาการเหมือนดูดชานมไข่มุกที่ดูดไม่ขึ้น โดยใช้มือช่วยบีบไล่น้ำนมด้วย
2.การประคบอุ่นหรือร้อน จากด้านนอกผิวหนัง อาจไม่ช่วยอะไรมาก เพราะเป็น superficial heat แต่ไม่เสียหายที่จะลองทำดู วิธีที่ได้ผลคือ deep heat โดยการทำอัลตราซาวด์ที่แผนกกายภาพบำบัด ด้วยกำลัง 2 watt/cm2 นาน 5 นาที วันละ 1 ครั้ง โดยทำซ้ำได้ 2-3 วัน (โดยแพทย์เป็นคนสั่งการรักษา) แล้วตามด้วยการบีบน้ำนมไล่ออกมาตามท่อ ร่วมกับการดูดจากลูก จะช่วยให้ที่อุดตันหลุดเร็วขึ้น
3.ต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ถ้าเป็นนานเกิน 48 ชั่วโมงแล้ว ไม่เช่นนั้น อาจพัฒนาจนกลายเป็นฝีได้
ยาปฏิชีวนะที่ใช้ โดยไม่มีปัญหากับการให้นม เช่น dicloxacillin ถ้าแพ้เพนนิซิลลิน ให้ใช้ clindamycin (ปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยา)
4.ถ้ามีจุดสีขาวที่หัวนม (white dot) ถ้าให้ลูกดูดขณะหิวจัดแล้วไม่หลุด ให้ใช้เข็มปลอดเชื้อ (ซื้อที่ร้านขายยา) สะกิดให้หลุด
5.ถ้าเป็นฝีแล้ว ห้ามให้หมอกรีดแผลเด็ดขาด แต่ให้ใช้เข็มเบอร์ใหญ่ที่สุด พยายามดูดออกหนองออกให้หมด อาจดูดซ้ำหลายๆครั้ง และให้ยาปฏิชีวนะให้นานจนฝีหยุบเป็นปกติ โดยไม่ต้องหยุดให้นมลูก และดูดเต้าได้ตามปกติ เมื่อไม่มีบาดแผลที่เต้า คุณแม่ก็ไม่เจ็บเวลาลูกดูด
แต่ถ้ากรีดเป็นแผลแล้ว แม่ก็จะเจ็บมาก จนให้ลูกดูดไม่ได้ และน้ำนมจะซึมรั่วออกทางแผลตลอดเวลา ทำให้แผลไม่สมานปิด แล้วในที่สุด หมอที่กรีดแผล ก็จะบอกคุณแม่ว่า จำเป็นต้องใช้ยาหยุดน้ำนม ที่ชื่อ parlodel เพื่อให้น้ำนมแห้งไปก่อน แล้วเมื่อแผลหายแล้ว ค่อยให้นมใหม่ ซึ่งในความเป็นจริง คือ ไม่มีใครได้กลับมาให้นมแม่ได้อีกเลย เพราะลูกติดขวดไปแล้ว และนมแม่แห้งไปแล้ว การกู้น้ำนมก็จะยากมากจริงๆ จนคุณแม่ถอดใจท้อไปเสียก่อน
ป้าหมอหวังว่า ต่อไปนี้จะไม่มีกรณี การรักษาฝีที่เกิดจากท่อน้ำนมอุดตันโดยการกรีดแผลอีกต่อไปค่ะ เพราะนอกจากทำให้ต้องเลิกให้นมแม่ไปโดยปริยายแล้ว จะเกิดแผลไม่สวยงามที่เต้านมของคุณแม่อีกด้วย (ที่จริงมีรูปแสดง แต่น่ากลัวมาก ก็เลยไม่เอาดีกว่า)
คนที่มีปัญหาท่อน้ำนมอุดตันบ่อยๆ ควรป้องกันโดยวิธีการต่อไปนี้ เพราะเป็นแต่ละครั้ง จะเจ็บปวดมาก และปริมาณนมจะลดลงหลังจากนั้น
1.รักษาเวลาในการระบายน้ำนมออกจากเต้า อย่าทิ้งนมไว้ในเต้านานเกินไป
2.อย่ากินหวาน มัน แป้ง น้ำตาล
3.กินเลซิทิน 1200 มก. 1 เม็ด เช้า/เย็น ถ้าลูกไม่แพ้ถั่วเหลือง
4.ถ้ายังตันบ่อย ให้ลองหยุดแคลเซียมและน้ำมันปลาที่กินอยู่ หลายคนไม่เป็นอีกเลย หลังจากหยุดสองอย่างนี้
5.ควรฝึกวิธีบีบเต้าให้เกลี้ยงด้วยมือ และ การทำจี๊ดที่หัวนม (ดูวิธีทำได้จากคลิปวิดิโอ) เพราะการใช้เครื่องปั๊มนมเพียงอย่างเดียว อาจเอานมออกได้ไม่เกลี้ยงเต้า
6.มีคุณแม่ท่านหนึ่งค้นพบว่า การกินมะเขือเปราะวันละ 5-6 ผล ช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำบ่อยๆได้ หลังจากที่ทำทุกอย่าง 5 ข้อข้างต้นแล้ว ก็ยังเป็นแล้วเป็นอีก แต่หลังจากกินมะเขือเปราะ จะดิบหรือสุกก็ได้ ก็ไม่เป็นอีกเลย ข้อเสีย คือ ถ้ากินดิบ ยางของมะเขือจะเกาะติดฟัน ทำให้ฟันดำ จึงต้องแปรงฟันให้ดี แต่ก็ขัดออกได้ค่ะ และข้อเสียอีกอย่างคือ ระวังกัดเจอหนอนครึ่งตัวค่ะ คุณแม่ท่านนั้นและคุณแม่ออยฝากบอกมา คุณแม่ทดลองกินได้นะคะ ไม่เสียหายอะไร
ที่มา http://goo.gl/HzFKsd
ฝีที่เต้านม ไม่ได้รักษาโดยการกรีดฝีนะคะ
"เคยเป็นจนเป็นฝี หมอศัลย์จับผ่า เราบอกว่าอ่านจากคุณหมอบอกว่าห้ามผ่าเด็ดขาดให้เจาะเอา หมอส่ายหน้าประมาณจะมาเถียงหมอทำไม อย่าไปเชื่อในเนต - -" สุดท้ายก็เจอผ่าเพราะหนองมันจะออกมาด้านนอกแล้ว เป็นแผลเป็นใหญ่มากๆเลยค่ะ เศร้าสุดๆ"
เป็นที่น่าเสียดายมาก ที่ยังมีคุณหมอไม่ทราบวิธีรักษาฝีที่เต้านม ซึ่งเกิดจากท่อน้ำนมอุดตันที่เกิดขึ้นนานเกิน 1 สัปดาห์ จนทำให้ก้อนที่เต้านมกลายเป็นฝี ถ้าก้อนเป็นมาไม่นานเกิน 1 สัปดาห์ ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ท่อน้ำนมอุดตันหลุดออก ก็จะไม่เกิดฝีขึ้นมา
และที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คือ เมื่อเป็นฝีแล้ว ไม่ได้ใช้วิธีรักษาฝีที่ถูกต้อง แต่ไปใช้วิธีกรีดฝี ทำให้เป็นแผลไม่สวยงาม ต้องทนทรมานจากการเจ็บแผล ต้องมาล้างแผลทุกวัน แล้วลงเอยด้วยการต้องให้ยาหยุดน้ำนม คุณแม่และลูกคู่นั้นก็จะเสียประโยชน์จากการไม่ได้ให้นมแม่ต่อ
ดังนั้นถ้าเป็นฝีแล้ว อย่าให้หมอกรีดแผลเด็ดขาด แต่ขอให้ใช้เข็มเบอร์ใหญ่ที่สุด คือ เบอร์ 18 ดูดหนองออกทุกวัน โดยฉีดยาชาตรงตำแหน่งที่จะดูดฝี สามารถทำที่คลินิคผู้ป่วยนอกได้ พยายามดูดออกหนองออกให้หมด โดยวันแรกอาจได้ 100 ซีซี (ขึ้นกับขนาดของฝี) วันต่อมาดูดได้ 50 ซีซี นัดมาดูดทุกวัน จนกว่าจะดูดได้น้อยกว่า 10 ซีซี หลังจากนั้นให้นัดห่างเป็นทุก 3 วัน 5 วัน 7 วัน จนดูดไม่ได้ ระหว่างนั้นให้กินยาปฏิชีวนะไปด้วย (อาจกินนาน 2-4 สัปดาห์) โพรงจะยุบเล็กลงเรื่อยๆ แล้วมีพังผืดเข้ามาแทนที่ ในการรักษานี้ ไม่ต้องหยุดให้นมลูก แต่ให้ดูดเต้าและปั๊มนมได้ตามปกติ หรือ ทำให้บ่อยขึ้นกว่าเดิม จะทำให้หายเร็วขึ้นถ้าโชคดีโพรงเชื่อมต่อกับท่อน้ำนม อาจปั๊มได้เลือดปน ถ้าไม่เข้มมาก ก็กินได้ตามปกติ จะช่วยให้โพรงยุบเร็วขึ้น ลูกกินเชื้อที่ปนออกมาก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเชื้อที่ผิวหนังของคุณแม่ซึ่งในภาวะปกติลูกก็กินเข้าไปพร้อมกับเซลผิวหนังบริเวณนี้ของคุณแม่อยู่แล้ว เมื่อโพรงยุบ ผิวหนังไม่มีลักษณะการอักเสบ คุณแม่ไม่เจ็บแล้ว ก็แปลว่าฝีหาย ตำแหน่งนั้นจะเป็นก้อนพังผืดอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ให้นวดและประคบอุ่นต่อไปเรื่อยๆ พังผืดจะนิ่มจนกลายเป็นเนื้อเต้านมตามปกติ
แต่ถ้ากรีดเป็นแผลแล้ว แม่ก็จะเจ็บมาก จนให้ลูกดูดไม่ได้ และน้ำนมจะซึมรั่วออกทางแผลตลอดเวลา ทำให้แผลไม่สมานปิด แล้วในที่สุด หมอที่กรีดแผล ก็จะบอกคุณแม่ว่า จำเป็นต้องใช้ยาหยุดน้ำนม ที่ชื่อ parlodel เพื่อให้น้ำนมแห้งไปก่อน แล้วเมื่อแผลหายแล้ว ค่อยให้นมใหม่ ซึ่งในความเป็นจริง คือ ไม่มีใครได้กลับมาให้นมแม่ได้อีกเลย เพราะลูกติดขวดไปแล้ว และนมแม่แห้งไปแล้ว การกู้น้ำนมก็จะยากมากจริงๆ จนคุณแม่ถอดใจท้อไปเสียก่อน
ป้าหมอหวังว่า ต่อไปนี้จะไม่มีกรณี การรักษาฝีที่เกิดจากท่อน้ำนมอุดตันโดยการกรีดแผลอีกต่อไปค่ะ เพราะนอกจากทำให้ต้องเลิกให้นมแม่ไปโดยปริยายแล้ว จะเกิดแผลไม่สวยงามที่เต้านมของคุณแม่อีกด้วย
รูปประกอบ 4 รูปบน คือ แผลที่เกิดจากการกรีดหนอง ส่วน 3 รูปล่าง คือ การรักษาโดยการดูดหนองออก จะไม่มีบาดแผลที่เต้านมเลยค่ะ
|
ทุกปัญหา..มีทางแก้