น้ำหนักตัวน้อย และ กราฟแสดงการเจิญเติบโต by Nitchawan Tangwiroon
หนึ่งในเรื่องที่คุณแม่ให้ลูกกินนมแม่เป็นกังวลใจอย่างมาก โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ คือ ลูกได้กินนมมากพอหรือเปล่า ลูกน้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือเปล่า ความกังวลใจนี้เกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการและน้ำหนักปกติของทารก
ปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการในแต่ละช่วงเวลา สามารถดูรายละเอียดได้ในหัวข้อ “ปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการ"
ส่วนเรื่องน้ำหนักปกติของทารก สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ คือ มันเป็นเรื่องปกติที่น้ำหนักตัวของทารกจะลดลงหลังจากคลอด เวลาที่ทารกน้ำหนักตัวลดลงต่ำสุดจะอยู่ประมาณวันที่ 3 หลังคลอด ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณเดียวกับที่แม่เริ่มจะมีน้ำนม
มีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อเวลาที่แม่เริ่มมีน้ำนม เช่น วิธีการคลอด (คลอดธรรมชาติหรือผ่าตัดคลอด) เวลาที่ทารกได้ดูดนมแม่ครั้งแรก ทารกกับแม่ได้อยู่ด้วยกันหรือแยกกันอยู่ ความถี่ในการให้ทารกดูดกระตุ้น ฯลฯ
เมื่อคุณแม่เริ่มมีน้ำนมและสามารถให้ทารกกินนมแม่ได้ ทารกที่คลอดตามกำหนด มีสุขภาพปกติ และสามารถกินนมได้ดีควรจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากประมาณวันที่ 3 เป็นต้นไป และควรมีน้ำหนักกลับมาเท่ากับน้ำหนักตัวตอนแรกเกิดภายใน 7-10 วัน
ถ้าทารกน้ำหนักไม่เพิ่มหรือเพิ่มช้ามาก ๆ แสดงว่าน่าจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการให้ทารกกินนมแม่ แพทย์หรือพยาบาลไม่ควรแนะนำให้นมผสมกับทารก แต่ควรตรวจสอบอย่างละเอียดว่าปัญหาเกิดจากการสร้างน้ำนมของแม่หรือความสามารถในการกินนมของทารก
ถ้าพบว่าปัญหาเกิดจากการสร้างน้ำนมของแม่ การให้แม่และทารกได้สัมผัสกันแบบเนื้อแนบเนื้อ การนวดเต้านม การให้ลูกดูดกระตุ้นบ่อย ๆ จะช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าหากพบว่าปัญหาเกิดจากความสามารถในการกินนมของทารก การใช้ช้อนป้อนทารกด้วยโคลอสตรัมก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ และคุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่เพื่อเรียนรู้เทคนิคในการเอาทารกเข้าเต้าและวิธีสังเกตว่าทารกกินนมได้หรือไม่
น้ำหนักแรกเกิด
ในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล การที่ทารกน้ำหนักลดลงมักจะเป็นเรื่องใหญ่ และบ่อยครั้งกลายเป็นสาเหตุทำให้ทารกต้องกินนมผสมโดยไม่จำเป็น
โรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้ตัวเลข 7% ของน้ำหนักแรกเกิด เป็นเกณฑ์ที่แสดงว่าทารกอาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว แต่ในช่วงที่ผ่านมามีงานวิจัยที่แสดงว่าปริมาณน้ำเกลือที่แม่ได้รับก่อนคลอดมีผลต่อน้ำหนักตัวแรกเกิดและน้ำหนักที่ลดลงของทารก
น้ำเกลือที่แม่ได้รับก่อนคลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนคลอด ส่วนหนึ่งจะส่งผ่านไปยังทารก ทารกจึงมีของเหลวส่วนเกินในร่างกายและมีน้ำหนักแรกเกิดสูงขึ้น เมื่อร่างกายทารกค่อย ๆ กำจัดของเหลวส่วนเกินออกไป จึงดูเหมือนว่าน้ำหนักตัวลดลงไปมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักแรกเกิด
ข้อสรุปจากการวิจัยจึงแนะนำว่าควรรอเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อให้ทารกกำจัดของเหลวส่วนเกินออกไปก่อน แล้วใช้น้ำหนักหลังคลอด 24 ชั่วโมงเป็นเกณฑ์ในการคำนวนเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักของทารกที่ลดลงหลังคลอด
กราฟแสดงการเติบโต
หลังจากที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ถ้าแม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ดี ทารกควรจะน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7 ออนซ์ต่อสัปดาห์ในช่วง 3 เดือนแรก (เกือบ ๆ 1 ออนซ์ต่อวัน) ในระหว่าง 3-12 เดือนอัตราการเพิ่มน้ำหนักตัวจะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติเนื่องจากทารกจะเริ่มมีการเคลื่อนไหวร่างกายและใช้พลังงานมากขึ้น
โดยเฉลี่ยทารกที่กินนมแม่จะมีน้ำหนักตัวเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิดเมื่อมีอายุ 5-6 เดือน และเมื่อมีอายุ 1 ขวบจะหนักประมาณ 2.5 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด
เวลาพ่อแม่พาทารกไปพบแพทย์ แพทย์จะบันทึกน้ำหนักตัวของทารกลงบนกราฟแสดงการเติบโต (Growth Chart) แต่กราฟแสดงการเติบโตก็มักจะสร้างความสับสนและกังวลใจให้กับพ่อแม่เป็นอย่างมาก เพราะพ่อแม่ (รวมทั้งหมอบางคน) ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกราฟแสดงการเติบโตและพัฒนาการที่เหมาะสมของทารก โดยเฉพาะทารกที่กินนมแม่ล้วน ๆ
สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับกราฟแสดงการเติบโต คือ กราฟแสดงการเติบโตเป็นการเปรียบเทียบ “น้ำหนัก” ของลูกของคุณกับเด็กคนอื่น ๆ แต่ไม่ได้เปรียบเทียบ “ความมีสุขภาพดี”
เมื่อเราบันทึกน้ำหนักของลูกลงบนกราฟแสดงการเติบโต เรากำลังเปรียบเทียบน้ำหนักของลูกเรากับน้ำหนักของทารกคนอื่น ๆ ที่อายุเท่ากันและเพศเดียวกัน เช่น ถ้าเราใช้กราฟน้ำหนักตัวที่อายุต่าง ๆ ขององค์การอนามัยโลก และพบว่าน้ำหนักของลูกอยู่บนเส้นที่ 25% นั่นหมายความว่า ตามหลักสถิติมีทารก 25 คนใน 100 คน ที่น้ำหนักน้อยกว่าลูกของเรา และขณะเดียวกันก็มีทารกอีก 75 คนที่น้ำหนักตัวมากกว่าลูกของเรา
แต่เนื่องจากกราฟแสดงการเติบโตไม่ใช่ตัวบ่งชี้สุขภาพของทารก ทารกที่น้ำหนักตัวอยู่บนเส้นเปอร์เซ็นต์ที่ 97% ไม่ได้มีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดีกว่าทารกที่น้ำหนักอยู่บนเส้นที่ 3%
ทารกที่สุขภาพดีก็เหมือนกับผู้ใหญ่ที่สุขภาพดี คือ แต่ละคนสามารถจะมีน้ำหนักและส่วนสูงที่แตกต่างกันไปแต่ก็ยังแข็งแรงและมีสุขภาพดีได้เหมือนกัน ทารกที่อยู่ที่เส้น 3% ก็สามารถมีสุขภาพดีเหมือนกับเด็กที่อยู่ที่เส้น 97%
นอกจากนี้พ่อแม่ยังต้องเข้าใจด้วยว่า กราฟแสดงการเติบโตไม่ใช่การสอบ จึงไม่มีคะแนนเป้าหมายที่พ่อแม่จะต้องพยายามทำให้ได้ เส้นกราฟที่ 50% ไม่ใช่น้ำหนักมาตรฐานของทารก เส้นที่ 50% แค่แสดงว่า ตามสถิติแล้วมีเด็กครึ่งหนึ่งที่มีน้ำหนักตัวเท่านั้นหรือน้อยกว่า และมีเด็กอีกครึ่งหนึ่งที่น้ำหนักตัวมากกว่านั้น
ดังนั้นแพทย์ไม่ควรแนะนำให้พ่อแม่ให้นมผสมเสริมเพียงเพราะทารกมีน้ำหนักอยู่บนเส้น 3% แล้วก็ไม่ควรแนะนำให้ลดการให้นมเพราะทารกมีน้ำหนักอยู่บนเส้น 97%
กราฟแสดงการเติบโตของทารกกินนมแม่กับทารกกินนมผสม
สิ่งที่แม่ที่ให้ลูกกินนมแม่จำนวนมากมักจะเจอเวลาพาลูกไปพบแพทย์ คือ แพทย์ทักว่าน้ำหนักตัวลูกน้อยเกินไป ทั้งที่ลูกมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับทารกที่กินนมแม่
ปัญหานี้เกิดจาการที่แพทย์บางส่วนไม่คุ้นเคยกับอัตราการเพิ่มน้ำหนักตัวของเด็กที่กินนมแม่ แพทย์บางคนยังอาศัยข้อมูลจากกราฟแสดงการเติบโตฉบับเก่าซึ่งเก็บสถิติจากเด็กที่กินนมผสม และอาจไม่ได้พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อน้ำหนักตัวของทารก
ในช่วง 2-3 เดือนแรก ทารกที่กินนมแม่ล้วน ๆ และมีสุขภาพดี จะโตเร็วกว่าทารกที่กินนมผสม แต่ในช่วง 3-12 เดือนเด็กกินนมแม่จะโตช้ากว่าเด็กกินนมผสม
กราฟแสดงการเติบโตที่ทำขึ้นก่อนปีค.ศ. 2006 ใช้ข้อมูลจากทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ล้วน ๆ ในช่วง 6 เดือนแรก (หมายถึงทารกที่กินนมผสม และทารกที่เริ่มกินอาหารเสริมก่อนอายุ 6 เดือน) ในปีค.ศ. 2006 องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่กราฟแสดงการเติบโตฉบับแก้ไข ซึ่งใช้ข้อมูลจากทารกที่กินนมแม่
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้แพทย์ใช้กราฟนี้ในการเฝ้าติดตามการเติบโตของทารก เพื่อไม่ให้แพทย์ประเมินผิดพลาดว่าทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมีภาวะเลี้ยงไม่โต (Fail to Thrive)
ถ้าแพทย์ไม่ได้ใช้กราฟแสดงการเติบโตฉบับแก้ไข แล้วเห็นน้ำหนักของทารกตกลงจากเส้นกราฟ อาจสรุปผิดพลาดว่าทารกมีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป และแนะนำให้ทารกกินนมผสมเสริมหรืออาหารเสริม หรือกระทั่งให้หยุดให้ทารกกินนมแม่ไปเลย
คุณแม่บางคนที่มั่นใจว่าลูกตัวเองมีสุขภาพดี มีการเติบโตและพัฒนาการสมวัย จะไม่ทำตามคำแนะนำที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ แต่คุณแม่บางคน โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ก็อาจจะสูญเสียความมั่นใจ เชื่อคำแนะนำผิด ๆ ของแพทย์ ทำให้ทารกต้องกินนมผสมโดยไม่จำเป็น หรือสูญเสียโอกาสการกินนมแม่ไปเลย
ปัจจัยอื่น ๆ
กราฟแสดงการเติบโตเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยคัดกรองความผิดปกติ แต่ไม่ใช่เครื่องมือวิเคราะห์ความผิดปกติ เวลาดูกราฟแสดงการเติบโต เราควรจะดูรูปแบบและแนวโน้มของกราฟมากกว่าดูจุดแต่ละจุด ทารกควรมีน้ำหนักเพิ่มในรูปแบบการเพิ่มที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ แต่ถึงแม้การเพิ่มน้ำหนักของทารกไม่เป็นตามรูปแบบที่คาดว่าจะต้องเป็น ไม่ได้หมายความว่าจะทารกมีความผิดปกติเสมอไป
การใช้กราฟการติบโตต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขนาดและะลักษณะรูปร่างของพ่อแม่เอง ลักษณะการเจริญเติบโตของพ่อแม่ตอนเป็นทารก รูปร่างและลักษณะการเจริญเติบโตของทารกอื่นที่เป็นพี่น้องหรือญาติ เนื่องจากกรรมพันธุ์มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของทารก
ถ้าแพทย์สงสัยว่าจะมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเติบโตของทารก ควรทำการตรวจสอบเพิ่มเติม องค์การอนามัยโลกมีกราฟหลายประเภทเกี่ยวกับการเติบโตของทารก กราฟความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักและส่วนสูงหรือดัชนีมวลกายของทารกที่ช่วงอายุต่าง ๆ สามารถแสดงให้เห็นภาพการเติบโตของทารกได้ถูกต้องกว่ากราฟแสดงน้ำหนัก
นอกจากนี้ กราฟแสดงการเติบโตและน้ำหนักตัว เป็นเพียงหนึ่งในตัวชี้วัดการเจริญเติบโตของทารก ไม่ควรจะนำมาพิจารณาเดี่ยว ๆ การประเมินและติดตามการเติบโตและพัฒนาการของทารกควรมองภาพรวม
แพทย์และพ่อแม่จะต้องจำไว้ว่า “ควร ดูทารก มากกว่า ดูตาชั่ง” ถ้าทารกตื่นตัวดี มีความสุขและร่าเริงดี กินนมได้ดี ขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะตามปกติ มีพัฒนาการอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับอายุ ตัวหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตัวโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็ไม่มีเหตุผลที่พ่อแม่จะต้องกังวล |
ทุกปัญหา..มีทางแก้