บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ https://www.doctorbreastfeeding.com/
"ลูกสาวอายุ 2 เดือนกว่า มีพังผืดบริเวณใต้ลิ้น ซึ่งดิฉันไม่ได้พาเขาไปตัดออก เพราะกลัวเขาเจ็บ แต่มีข้อสงสัยมาถามคุณหมอดังนี้ค่ะ ตอนนี้ลูกกินนมได้ดีทั้งจากขวดและจากเต้า และมีน้ำหนักตามเกณฑ์ แต่เวลากินนมจากเต้า เขามักจะอาเจียนแบบพุ่งออกมาอยู่เรื่อยค่ะ ไม่ทราบว่าอาการดังกล่าวเกิดจากพังผืดนี้หรือเปล่าคะ ควรพาลูกไปตัดพังผืดหรือไม่ ถ้าไม่ตัด จะมีผลเสียต่อเขาในวันข้างหน้าหรือไม่คะ"
พังผืดใต้ลิ้น คือ เยื่อบางๆที่ยึดบริเวณด้านล่างของโคนลิ้น ติดไว้กับพื้นล่างของช่องปาก ใกล้ๆบริเวณนี้จะมีกล้ามเนื้อ เส้นเลือด และระบบน้ำเหลืองที่ส่งไปเลี้ยงที่ลิ้น ถ้าเยื่อดังกล่าวหนาหรือสั้นเกินไป จะทำให้การเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้การดูดนมแม่เป็นไปได้ยาก เพราะการดูดนมแม่ ต้องใช้ลิ้นแลบออกมาและรีดน้ำนมจากบริเวณลานนมเข้าปาก แต่ถ้าเป็นการดูดนมขวด จะไม่มีปัญหา เพราะเป็นการขยับเหงือกเท่านั้น
เมื่อลูกดูดนมแม่ลำบาก จะส่งผลให้น้ำหนักตัวไม่ขึ้น เด็กไม่ชอบดูดนมแม่ ดูดไปหลับไปเพราะเมื่อยลิ้น หรือขอดูดนมตลอดเวลาเพราะได้น้ำนมไม่พอ แม่จะมีปัญหาหัวนมแตกและเจ็บมาก ดังนั้นต้องขอบคุณการรณรงค์เรื่องนมแม่ เพราะทำให้วินิจฉัยภาวะพังผืดใต้ลิ้นได้เร็วขึ้น มิฉะนั้นอาจไม่ทราบว่าลูกเป็น จนถึงเวลาที่ลูกพูด จะมีปัญหาพูดไม่ชัด ร.เรือ ล.ลิง และตัวควบกล้ำ เพราะกระดกลิ้นได้ไม่ดี
การรักษา คือ การขลิบหรือตัดเยื่อบางๆให้ขาด โดยระวังไม่ให้โดนกล้ามเนื้อ เส้นเลือดและระบบน้ำเหลือง หากทำโดยผู้เชี่ยวชาญ จะเสียเลือดเพียง 1-2 หยด และมีแผลเล็กๆที่รอยตัด คล้ายแผลร้อนใน ลูกจะไม่เจ็บเวลาถูกตัดเพราะหมอทายาชา ไม่ต้องดมยาสลบ เพราะเด็กยังตัวเล็กอยู่ จับได้ไม่ยาก อาการเจ็บแผลหลังจากถูกตัด จะเจ็บเหมือนการเป็นแผลร้อนใน อาจมียาทาช่วยให้แผลหายเร็ว หลังตัดแล้ว ลูกจะดูดนมแม่ดีขึ้นทันที ดูดเก่งขึ้นมาก ไม่เสียเวลาในการดูดนมนานมากเหมือนเดิม ทำให้คุณแม่มีความสุขในการให้นมมากขึ้น เพราะไม่เจ็บหัวนม
หากไม่ทำตั้งแต่เล็กๆ แต่รอจนเด็กโตแล้วค่อยตัดสินใจทำเพราะมีปัญหาพูดไม่ชัด จะต้องดมยาสลบเพื่อทำการตัด
ลูกของคุณแม่ เป็นพังผืดใต้ลิ้นจริงหรือไม่ บอกยากค่ะ เพราะหมอเคยเจอเด็กที่ดูแล้วเหมือนมีพังผืดอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเขาดูดนมแม่จากเต้าได้ดี แม่ไม่เจ็บหัวนม และน้ำหนักตัวขึ้นดี แสดงว่า ไม่ได้เป็นมาก ก็ไม่ต้องรักษาอะไร ส่วนกรณีของคุณแม่ เนื่องจากกินจากเต้าและขวดร่วมกัน น้ำหนักขึ้นดี อาจเป็นเพราะกินขวดอยู่ ต้องลองดูว่าถ้าไม่ดูดขวดแล้ว ยังมีน้ำหนักตัวขึ้นดีอยู่ และแม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม ถ้าไม่มีปัญหาดังกล่าว แสดงว่าไม่ต้องขลิบค่ะ
ส่วนอาการดูดนมแม่แล้วอาเจียนพุ่ง อาจเกิดจาก ได้รับนมมากเกินไป เพราะกินทั้งจากขวดและเต้า หรือ หลังกินแล้วยังไม่ได้จับเรอ หรือ ท่าอุ้มไปกดโดนท้อง แก้ไขโดย ลองลดปริมาณนม จับเรอหรือท่าอุ้มให้ถูกต้อง