บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ https://www.doctorbreastfeeding.com/
"ลูกของคุณแม่อายุได้ 5 เดือนแล้วค่ะ ยังคงให้นมแม่ต่อเนื่อง คุณแม่จึงอยากได้คำแนะนำเรื่องอาหารที่ควรและไม่ควรรับประทานอย่างละเอียด เพราะเคยได้ยินมาว่าอาหารที่คุณแม่กินเข้าไป ลูกก็จะได้รับผ่านน้ำนมด้วย รบกวนคุณหมอด้วยนะคะ"
หมอขอแสดงความยินดีและขอชื่นชมคุณแม่ที่กำลังให้นมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะการให้นมแม่ยิ่งนานยิ่งดีต่อสุขภาพของลูกและแม่ในหลายๆด้าน ส่วนความเชื่อที่ว่า การให้นมนานๆจะทำให้ร่างกายคุณแม่ทรุดโทรมนั้น ไม่เป็นความจริง หากคุณแม่กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอโดยสามารถให้นมท่านอนได้ มีการออกกำลังกายเป็นประจำ คุณแม่ก็จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพที่แข็งแรง
สำหรับเรื่องการกินอาหารที่คุณแม่กังวลว่าจะไม่สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดีเพียงพอนั้น หมอขอแนะนำหลักการง่ายๆดังนี้ค่ะ
ไม่จำเป็นต้องกินอะไรเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องกินของราคาแพง แต่ให้ยึดหลักการเหมือนกับคนอื่นๆที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพคือ ควรกินแต่อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ได้แก่
* กินผัก ผลไม้สดให้หลากหลายสี วันละ 5 ถ้วย หากไม่มีแบบสดๆ อาจเป็นแบบแช่แข็งหรือผลไม้ตากหรืออบแห้งแบบไม่เติมเกลือ น้ำตาล เพื่อให้ได้รับวิตะมิน เกลือแร่ เส้นใยอาหารอย่างเพียงพอ
* ข้าวไม่ขัดขาว ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงาดำ เมล็ดแฟล็กซ์ จะช่วยให้เส้นใยอาหาร วิตะมิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ
* โปรตีนจากสัตว์ เช่น เนื้อหมู ไก่ วัว ไข่ ถั่วเมล็ดแห้ง ปลา อาหารทะเล ควรกินให้หลากหลาย อย่ากินซ้ำๆเพียงอย่างเดียวเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องแพ้อาหาร การได้รับสารพิษตกค้าง เช่น ฮอร์โมนเร่งโตที่ฉีดในสัตว์ สารปรอทในอาหารทะเล สารดีดีทีหรือสารปิโตรเคมีที่ตกค้างในไขมันสัตว์เนื่องจากสัตว์กินอาหารและแหล่งน้ำที่มีสารเหล่านี้ปนเปื้อน
* ดื่มน้ำสะอาดวันละ 2-3 ลิตร กินแคลเซียมช่วยให้กระดูกแข็งแรง ดีเอชเอช่วยบำรุงสมอง ไอโอดีนช่วยเพิ่มระดับสติปัญญา และ ธาตุเหล็กช่วยให้ไม่ซีดและป้องกันสมองเสื่อม ควรเลือกกินจากธรรมชาติจะดีกว่าการกินจากอาหารเสริม
นอกจากนี้ คุณแม่ควรทราบว่ายังมีอาหารอีกหลายอย่างเล็ดลอดเข้าสู่นมแม่ ไปทำให้ลูกเกิดความผิดปกติได้ เช่น
- อัลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น เช่น วิสกี้ คอนยัค เหล้า บรั่นดี ไม่ควรกินเกิน 30 ซีซี หากกินเบียร์หรือไวน์ ไม่ควรเกินหนึ่งแก้ว (180 ซีซี) จะได้ไม่ต้องปั๊มนมทิ้ง แต่ถ้ากินเกิน ปริมาณดังกล่าว ต้องปั๊มทิ้งภายใน 3-6 ชม.หลังจากกินหรือจนกว่าคุณแม่จะมีความรู้สึกตัวดีหรือมีระดับสติสัมปชัญญะกลับมาเป็นปกติ เพราะปริมาณอัลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะเข้าสู่น้ำนม ทำให้ลูกมีปัญหานอนหลับมากผิดปกติ กดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ และเป็นอันตรายต่อตับของทารก โดยทั่วไปแล้ว หากคุณแม่กินอัลกอฮอล์ ไม่ควรนอนเตียงเดียวกับลูก เพราะอาจหลับลึกจนทับลูกเสียชีวิตได้
- คาเฟอีน ที่อยู่ใน ชา กาแฟ ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำอัดลม กินได้เพียงหนึ่งอย่าง วันละไม่เกิน 1 แก้ว หากกินมากเกินไป อาจมีผลทำให้ลูกนอนหลับไม่ดี กระตุ้นทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ
- โปรตีนกระตุ้นภูมิแพ้ เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล มะพร้าว ผลไม้รสเปรี้ยว ฯลฯ ถ้าลูกมีอาการแพ้ คุณแม่ต้องงดอาหารประเภทนี้ขณะให้นมด้วย
-อาหารบางอย่างทำให้ลูกมีแก๊สหรือปวดท้อง เช่น อาหารเผ็ด หัวหอมใหญ่ ถั่วชนิดต่างๆ ผักกะหล่ำปลี บร๊อคโคลี่ ซึ่งบางคนเป็น บางคนไม่เป็น จึงควรสังเกตและจดจำว่ากินอะไรเข้าไปบ้าง จะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้อง