บทความโดย พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ https://www.doctorbreastfeeding.com/
การให้นมแม่บางคนอาจเคยได้ยินว่า หากน้ำนมน้อย หรือหัวนมบอดก็ไม่สามารถให้นมลูกได้ หรือให้นมแม่เป็นเรื่องยาก ความจริงแล้วผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกคนสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หากรู้วิธีการที่ถูกต้อง
กุญแจสำคัญ 4 ประการ คือ
หนึ่ง... อย่าใช้นมผง
สอง... อย่าด่วนหมดกำลังใจ และ
สาม... ต้องกระตุ้นเต้านมบ่อยๆ และ
สี่...ตัวช่วยที่สำคัญ ผู้ให้คำแนะนำ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล ผู้ให้คำปรึกษาเรื่องนมแม่ หรือคุณแม่ที่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน
การให้ลูกเริ่มดูดนมเร็วที่สุดภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด การให้ลูกอยู่ร่วมห้องเดียวกับแม่ การให้ลูกได้ดูดนมบ่อยๆ เท่าที่ลูกต้องการ ยิ่งลูกได้ดูดบ่อยจะยิ่งชำนาญในการดูดมากขึ้น และแม่จะผลิตปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้นด้วย
"อย่างไรเรียกว่ามีน้ำนมเพียงพอ"
แม่บางคนเลือกวิธีปั๊มนมใส่ขวด เพื่อที่จะได้รู้ปริมาณน้ำนมที่ลูกกิน แต่...การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กไม่มีโอกาสดูดกระตุ้นที่เต้านม การสร้างน้ำนมของแม่จะลดลงเรื่อยๆ เพราะเครื่องปั๊มกระตุ้นได้ไม่ดีเท่าการดูดของเด็ก การประเมินว่าเด็กได้นมเพียงพอหรือไม่ สามารถทำได้คือ
สังเกตว่าขณะดูดได้ยินเสียงกลืนน้ำนมลงคอ
มีอาการเรอ สะอึกหลังกินนมเสร็จ
มีอาการพุงกางออกหลังกินนม
อุจจาระมากกว่าสองครั้ง ปัสสาวะมากกว่า 6 ครั้งต่อวัน
การตื่นบ่อยหรือร้องไห้มาก หรือทำปากอยากดูดตลอดเวลา ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ ว่าเป็นเพราะยังหิวอยู่ เพราะทารกบางคนได้กินนมมากจนมีอาการปวดแน่นท้อง อึดอัดมาก ก็แสดงอาการดังกล่าวได้ ควรใช้วิธีสังเกตปริมาณอุจจาระปัสสาวะจะดีกว่า
หากไม่แน่ใจว่าเด็กได้นมแม่เพียงพอหรือไม่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้
"อย่าใช้นมผงร่วมด้วย"
แม่ที่ต้องการให้นมลูกประสบความสำเร็จ ควรหลีกเลี่ยงการใช้นมผงควบคู่กันตั้งแต่ต้น แม้ว่าในระยะ 3-4 วันหลังคลอด แม่จะมีน้ำนมออกมาน้อยมากก็ตาม เพราะเด็กแรกเกิดมีขนาดของกระเพาะอาหารเล็กมาก ขนาดเท่ากับลูกแก้วเท่านั้น จึงไม่ได้ต้องการปริมาณนมมากเป็นออนซ์ๆ เวลาเด็กดูดแล้วหงุดหงิด อย่าเพิ่งท้อไปให้นมผง เพราะถ้าเด็กเคยดูดขวดนมแล้วอาจเกิดความสับสนในวิธีการดูดนม เนื่องจากการดูดนมจากขวดง่ายและรวดเร็วกว่าการดูดจากเต้า ทำให้เด็กดูดนมแม่เบากว่าที่ควรจะเป็น เพราะการดูดจากขวดทำให้เขาใช้แรงดูดน้อยกว่า การดูดเบายังอาจทำให้นมแม่ไม่ได้รับการกระตุ้นในการสร้างน้ำนมได้ดีพอ หรืออาจทำให้ผลิตน้อยจนลงจนหายไปในที่สุด ข้อเสียอีกอย่างหนึ่งของการใช้นมผง คือเด็กจะหลับนานกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่ได้มาดูดกระตุ้นเต้านมบ่อยๆ น้ำนมแม่ก็จะผลิตได้น้อยลงจนกระทั่งแห้งหายไป