"คุณแม่พาน้องเอ วัย 3 ขวบ มาพบหมอในเดือนนี้เป็นครั้งที่ 3 เนื่องจากมีอาการไอเรื้อรัง ครั้งแรกเริ่มจากอาการเป็นไข้หวัด หมอให้ยาลดไข้ แก้หวัด ต่อมาไม่มีไข้แล้วแต่น้ำมูกเหลือง และไอมีเสมหะ ตรวจพบว่าเป็นโพรงจมูกอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ ทานจนหมดขวด น้ำมูกแห้งกรังติดจมูกเล็กน้อย แต่ไม่หายไอซักที คุณแม่เล่าว่า ตั้งแต่เข้าเรียน เป็นหวัดแทบทุกเดือน เพื่อนๆในห้องผลัดกันเป็น เรียนห้องแอร์ และมีว่ายน้ำอาทิตย์ละ 1 วัน จะเป็นสาเหตุให้ลูกป่วย บ่อยหรือไม่ หรือว่าลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ เพราะคุณพ่อเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ คราวนี้หมอเลยส่งเอ็กซเรย์โพรงไซนัส พบว่าขาวทึบไปหมด คือเป็นไซนัสอักเสบ แสดงว่าที่ป่วยบ่อยๆนั้น จริงๆแล้วอาจเป็นหวัดแบบรับเชื้อใหม่จากเพื่อนเพียงไม่กี่ครั้ง ที่เหลือเป็นอาการของไซนัสอักเสบกำเริบ"
- โรคไซนัสอักเสบ คือการอักเสบของโพรงอากาศซึ่งเชื่อมต่อกับโพรงจมูก มีทั้งหมด 4 คู่ คือ ด้านข้างจมูก ดั้งจมูก หัวคิ้ว และด้านหลังจมูก เกิดขึ้นจากการเป็นหวัดนานเกิน 10 วัน แล้วเชื้อโรคลุกลามไปยังโพรงอากาศดังกล่าว เมื่อโพรงดังกล่าวเกิดการอักเสบแล้วจะสร้างน้ำมูกออกมาจำนวนมาก ไหลย้อนออกมาเป็นน้ำมูก หรือไหลลงคอกลายเป็นเสมหะในคอ พบว่าผู้ที่เป็นโรคแพ้อากาศจะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเยื่อบุภายในโพรงจมูกมักบวมและมีการอักเสบจากภูมิแพ้เกิดขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ทำให้กลไกการกำจัดน้ำมูกผิดปกติไป มีการคั่งค้างของน้ำมูกใสๆภายในโพรงไซนัส และเมื่อได้รับเชื้อโรคหวัดจากผู้อื่นเข้าไปอยู่ในโพรง น้ำมูกใสจะเปลี่ยนเป็นข้น เหลือง เขียวได้ กลายเป็นอาการของไซนัสอักเสบกำเริบ
อาการส่วนใหญ่จะคล้ายหวัด คือ มีอาการคัดจมูก น้ำมูกข้น อาจเป็นเหลือง เขียว ผู้ป่วยรู้สึกว่ามีน้ำมูกไหลลงคอ มีเสมหะในคอ เจ็บคอ ระคายคอ เสียงแหบ ไอ โดยมักไอมากเวลานอน เนื่องจากน้ำมูกไหลลงคอในท่านอนราบ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณดั้งจมูก หน้าผาก หัวคิ้ว โหนกแก้ม ฟันบน หูอื้อ ลมหายใจมีกลิ่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เลือดกำเดาไหลบ่อย
ตรวจร่างกายอาจพบ มีอาการกดเจ็บบริเวณไซนัส อาการ บวมรอบตา เยื่อบุโพรงจมูกบวม น้ำมูกข้น เหลือง เขียว เมื่อใช้ไม้กดลิ้นดูบริเวณช่องคอ จะเห็นน้ำมูกไหลลงคอ
การเอ็กซเรย์ไซนัส อาจมีความจำเป็นในรายที่อาการและการตรวจร่างกายไม่ชัดเจน ทำได้ในเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป อาจพบว่ามีการขาวทึบ หรือเป็นระดับน้ำขังอยู่ในโพรง หรือเยื่อบุโพรงหนาตัวขึ้น ในบางรายที่เป็นในตำแหน่งหลังจมูกอาจไม่พบจากการเอ็กซเรย์ธรรมดา การทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์จะช่วยให้วินิจฉัยได้
ภาวะแทรกซ้อน คือ การติดเชื้อจากโพรงไซนัสลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง ทำให้เกิดการติดเชื้อของเนื้อเยื่อบริเวณใบหน้ารอบเบ้าตา (periorbital cellulitis) ทำให้หนังตาและหน้าบวมแดง และที่พบได้แต่ไม่บ่อยได้แก่ การติดเชื้อของกระดูกบริเวณใบหนัา (osteomyelitis) การติดเชื้อของเส้นประสาทตา (optic neuritis) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง เป็นต้น ในกรณีที่มีน้ำมูกไหลลงคอทำให้เด็กมีปัญหาเจ็บคอบ่อย หากน้ำมูกตกลงไปบริเวณหลอดลมทำให้มีปัญหาหลอดลมอักเสบหรือมีอาการหอบได้ จึงมักพบว่าเด็กที่มีปัญหาหลอดลมอักเสบหรือหอบบ่อยๆ อาจเกิดจากการเป็นโรคไซนัสอักเสบซ่อนเร้นอยู่
หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคไซนัสอักเสบ ควรพาพบหมอเพื่อตรวจยืนยันการวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้หายขาดได้
#การรักษา
- ยาปฏิชีวนะ ต้องให้ต่อเนื่องให้นานพอที่จะฆ่าเชื้อได้หมด เนื่องจากโพรงไซนัสเป็นบริเวณที่ยาเข้าถึงลำบาก เนื่องจากมีเส้นเลือดไปน้อย การให้ยาเพียง 1 สัปดาห์ ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้หมด ทำให้เหลือเชื้อแบ่งตัวกลับมามีอาการใหม่ในเวลาไม่นาน และทำให้เชื้อโรคดื้อยามากขึ้น ถ้าเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ให้ยาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือให้ต่ออีก 7 วันหลังจากที่อาการหายแล้ว แต่ถ้าเป็นแบบเรื้อรังอาจนาน 3-8 สัปดาห์ โดยต้องประเมินผลการรักษาระหว่างให้ยาว่าได้ผลดีหรือไม่ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 4-5 วัน ควรพิจารณาเปลี่ยนยา ในบางรายอาจมีปัญหาเชื้อดื้อยามาก อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดร่วมกัน
- ยาแก้คัดจมูก ช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก ทำให้ของเหลวในโพรงไซนัสไหลออกได้ดีขึ้น
- การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออุ่นเล็กน้อย (0.9% normal saline solution หรือ NSS) จะช่วยให้น้ำมูกเหนียวน้อยลง ขนฝอยที่เยื่อบุจมูกทำงานกวัดไกวเพื่อกำจัดเชื้อโรคและสารกระตุ้นภูมิแพ้ออก จากจมูกได้ดีขึ้น ลดคราบน้ำมูกแห้งกรังที่อุดตันรูเปิดของไซนัส ทำให้โพรงไซนัสสะอาดเร็วขึ้น
- ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ อาจต้องใช้ร่วมด้วยในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศ เพื่อลดการอักเสบจากภูมิแพ้ ทำให้อาการบวมของเยื่อบุจมูกลดลง อาการคัดจมูกดีขึ้น
- การดูแลทั่วไป ดื่มน้ำอุ่นมากๆ งดว่ายน้ำ ดำน้ำ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์
- ในรายที่เป็นโรคภูมิแพ้ต้องรักษาทางด้านภูมิแพ้ควบคู่กันไปด้วย จึงจะทำให้ลดการเป็นซ้ำๆของไซนัสอักเสบ เช่น การทานยาแก้แพ้เสริมภูมิ
- การหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ ซึ่งทราบได้จากการทำทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง หรือการเจาะเลือดตรวจ สารกระตุ้นอาการภูมิแพ้หรือสารก่อภูมิแพ้อาจเป็นสารที่เข้าร่างกายโดยการสูด ดม เช่น ฝุ่น (กำจัดโดยทำความสะอาดเช็ดถูห้องไม่ให้ฝุ่นสะสม ไม่ปูพรม ไม่ใช้นุ่น ไม่เล่นผ้าม่าน ไม่เล่นตุ๊กตาที่เป็นผ้าหรือขนหรือวางสะสมไว้บนเตียงนอน ให้เก็บใส่ตู้โชว์ ไม่เก็บหนังสือไว้ในห้องนอน ไม่ใช้แป้ง) ไรฝุ่น (ป้องกันโดยใช้ผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น ใช้ความร้อนในการซักผ้าปูที่นอน ส่วนการใช้ที่ดูดไรฝุ่นหรือน้ำยากำจัดไรฝุ่นหรือที่นอนที่มีราคาแพงและโฆษณา ว่ากันไรฝุ่นได้นั้น ไม่มีประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้) ฝุ่นซากแมลงสาป (หมั่นเก็บข้าวของ เศษอาหาร ไม่ให้รกจนเป็นที่อยู่หรืออาหารของแมลงสาป) ขนสัตว์ เกสรดอกหญ้า ควันบุหรี่ ควันรถ หมั่นล้างทำความสะอาดแอร์บ่อยๆ ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นและทำลายเชื้อโรคติดตั้งใน ห้องนอนหรือห้องเรียนแอร์ที่มีนักเรียนจำนวนมากและไม่มีการถ่ายเทอากาศ เนื่องจากหากมีคนไม่สบายแพร่เชื้ออยู่ในห้อง จะทำให้ผู้อื่นติดโรคได้ง่าย
- การหลีกเลี่ยงการทานอาหารที่กระตุ้นภูมิแพ้ เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล เป็นต้น จะช่วยให้อาการภูมิแพ้ดีขึ้น เป็นการลดความเสี่ยงในการเป็นไซนัสอักเสบซ้ำๆ
"เมื่อน้องเอทานยารักษาไซนัสอักเสบครบจนหายเป็นปกติแล้ว หมอนัดมาทำการทดสอบทางผิวหนังเพื่อดูว่าน้องเอแพ้อะไรบ้าง และ แนะนำเจาะเลือดหาภูมิแพ้อาหารแบบแอบแฝง พบว่าแพ้หลายอย่าง ทั้งฝุ่น ไรฝุ่น แมลงสาบ รวมถึงนมวัว และอาหารทะเลด้วย หลังจากที่กำจัดสิ่งที่แพ้ออกไปได้เกือบหมด พบว่าน้องเอสุขภาพแข็งแรงดี ไม่เป็นหวัดบ่อยอีก"