“ถ้าลูกในครรภ์นน.น้อยจะทำยังไงดีคะ เพราะหมอสูติแนะนำให้กินนม,ไข่เพิ่มขึ้น ตอนนี้ท้อง 7 เดือน ลูกหนัก 9 ขีด หมอบอกว่าลูกนน.น้อยไป ให้บำรุงพวกโปรตีนค่ะ”
ก่อนอื่น ป้าหมอขอบอกตัวเลขนน.ค่าเฉลี่ย (50%) ของลูกอายุครรภ์ 7 เดือน คือ 1,000 กรัมค่ะ ถ้าลูกหนัก 9 ขีดยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เข้าข่ายว่าลูกตัวเล็กผิดปกติ IUGR (Intrauterine Growth Retardation) เพราะไม่ได้ต่ำกว่า 10% ซึ่งก็คือ 700 กรัม คุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ กินอาหารตามปกติเหมือนเดิมค่ะ ไม่ต้องโด๊ปนมวัวและไข่ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงที่ลูกจะแพ้เมื่อโตขึ้น
การที่ลูกในท้องมีนน.ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หรือ 50% ไม่ถือว่า ลูกตัวเล็กเกินไปนะคะ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ ผิดปกติคือ ต้องต่ำกว่า 10% ค่ะ
สาเหตุของลูกในครรภ์ตัวเล็ก เช่น แม่เป็นโรคต่อไปนี้ โรคเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ โรคหัวใจ โรคไต โรคเลือดจาง โรคปอดเรื้อรัง ติดเชื้อหัดเยอรมัน ไวรัส CMV เชื้อToxoplasmosis (อยู่ในอึแมว) เชื้อซิฟิลิส (เหมือนลูกลำยอง) มีเนื้องอกในมดลูก แม่สูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้สารเสพติด แม่เป็นโรคขาดสารอาหาร ความผิดปกติด้านการแข็งตัวของเลือด ลูกเป็นความผิดปกติของโครโมโซม ลูกแฝด (เพราะอยู่กันเบียดๆ ไม่ใช่เพราะแย่งอาหารกัน)
ดังนั้นถ้าดูจากสาเหตุข้างต้นแล้ว มีอยู่กรณีเดียวเท่านั้นที่การให้แม่กินอาหารเพิ่มขึ้น หรือ กินแบบโด๊ป เช่น ไข่วันละ 3 ฟอง นมวันละ 2 ลิตร จะช่วยทำให้ลูกในครรภ์ตัวโตขึ้น นั่นคือ กรณีที่แม่เป็นโรคขาดสารอาหาร ขาดพลังงานอยู่แต่ดั้งเดิม ซึ่งไม่ใช่คุณแม่ส่วนใหญ่ที่อ่านแฟนเพจป้าหมอแน่นอนค่ะ น่าจะเป็นคุณแม่ที่อยู่ในประเทศเอธิโอเปียประมาณนั้น
ส่วนลูกตัวเล็กจากสาเหตุอื่นๆ ถึงพยายามกินมากขึ้น ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร หรือ อาจทำให้แย่ลงด้วย เช่น กรณีที่คุณแม่เป็นเบาหวาน ลูกตัวเล็ก แต่แม่ยังกินแบบไม่ยั้ง น้ำตาลในเลือดยิ่งสูง จะทำให้ลูกมีความผิดปกติมากขึ้น และถ้าแต่เดิมคุณแม่เป็นคนอ้วนหรือนน.เกินอยู่ ก็ไม่ต้องกินแคลอรี่เพิ่มขึ้น ให้กินแคลอรี่เท่ากับคนที่ไม่ตั้งครรภ์ก็พอแล้ว ไม่ต้องกินเพิ่มอีก 500 กิโลแคลอรี่เหมือนกับคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านอื่นๆ เพราะมีนน.สำรองไว้มากอยู่แล้ว
แล้วทำไมคุณแม่หลายๆท่านจึงมักได้รับคำแนะนำว่า ให้กินเยอะๆ เพื่อเพิ่มนน. ก็เหมือนกับที่คนมักคิดว่า ให้แม่กินอาหารเยอะๆ แล้วจะผลิตน้ำนมได้เพิ่มขึ้นนั่นเอง ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ให้กินเท่าที่จำเป็นก็พอแล้ว คือ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงให้นมลูกที่มีสภาวะทางโภชนาการปกติอยู่แต่เดิม ต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่/วัน หากถ้าใครมีสภาวะโภชนาล้นเกิน หรือ นน.เกินอยู่แล้ว ไม่ต้องกินเพิ่มค่ะ ให้กินเท่ากับหญิงไม่ตั้งครรภ์ คือ 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน
วิธีดูแลที่ถูกต้องสำหรับปัญหาลูกในครรภ์ตัวเล็กทุกกรณี คือ การพักเยอะๆ การนอนเยอะๆ เพื่อให้มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงทารกมากขึ้น ถ้าแม่ทำงานเยอะ ออกแรงเยอะ เลือดก็ต้องไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกายคุณแม่ ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงลูกลดลง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนกลางคืนอย่างน้อย 8 ชม. กลางวัน 1-2 ชม.
ส่วนการรักษาด้านอื่นๆ ขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้ลูกตัวเล็ก เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกกินเหล้า เลิกสารเสพติด ใช้แอสไพรินแก้ไขปัญหาเรื่องความผิดปกติด้านการแข็งตัวของเลือด ส่วนโรคประจำตัวของคุณแม่ก็ต้องให้คุณหมออายุรกรรมช่วยดูแลควบคู่กันไป ถ้าเป็นการติดเชื้อหรือโครโมโซมผิดปกติ ก็มักจะทำอะไรไม่ค่อยได้ นอกจากการนอนพักผ่อนให้เต็มที่
แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์ตัวเล็ก
1.ตรวจร่างกาย : วัดระยะห่างจากมดลูกถึงกระดูกหัวหน่าว เพื่อดูว่าลูกโตขึ้นทุกเดือนไหม
2.อัลตราซาวด์ : ประเมินน้ำหนักลูกได้จากการคำนวณค่าที่วัดได้ วิธีนี้เชื่อถือได้มากที่สุด ถ้าผู้ทำอัลตราซาวด์มีความเชี่ยวชาญ
3.โดยการติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักคุณแม่ : ถ้านน.คุณแม่ไม่ขึ้น หรือ ลดลง ให้สงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาตัวเล็กผิดปกติ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะป้าหมอเคยพบเคสที่นน.แม่ขึ้นเพียง 8 กก. ลูกออกมาหนัก 4 กก. และเคยพบเคสที่แม่นน.ขึ้น 20 กก. ลูกหนักแค่ 2.5 กก. แสดงว่า นน.ลูกไม่ได้แปรผันตรงไปตรงมากับนน.ของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น แต่นน.คุณแม่ที่เพิ่มขึ้นแปรผันตามอาหารที่คุณแม่กิน ดังนั้น หากคุณแม่โด๊ปมากๆโดยที่คุณแม่ไม่ได้มีปัญหาขาดสารอาหารอยู่แต่เดิม นน.ส่วนเกินจะอยู่ที่คุณแม่ทั้งหมด ลูกได้ไปก็แค่นิดเดียวอยู่ดี แถมยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการที่ลูกจะแพ้อาหารที่แม่โด๊ปเข้าไป เช่น นมวัว นมถั่ว ไข่ แป้งสาลี ซีฟู้ด