"ผู้ใหญ่ที่บ้านเอาลูกอมให้ลูกวัย 3 ขวบอมเล่น แล้วติดคอ โชคดีที่ไม่เป็นอะไร แต่คุณแม่ก็ใจหาย อยากทราบวิธีปฐมพยาบาลหรือช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก และวิธีสังเกตอาการในกรณีที่ต้องรีบพาไปหาหมอโดยด่วน"
การเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอม (choking) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กชอบเอาสิ่งต่างๆเข้าปาก แล้วสำลักลงหลอดลม ดังนั้นการป้องกันคือ การไม่ให้ของชิ้นเล็กๆแก่เด็กและเก็บให้พ้นจากการหยิบได้ เองของเด็ก เช่น กระดุม เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ลูกปัด ลูกเต๋า เหรียญ แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนของเล่น เศษลูกโป่งที่แตก (ของใดก็ตามที่ขนาดเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของแกนกระดาษชำระ ถือว่ามีความเสี่ยงในการสำลักได้) แม้แต่น้ำหรือนมที่ดูดจากขวดก็มีโอกาสสำลักได้ การป้องกันการสำลักอาหารหรือน้ำจึง ควรสอนให้เคี้ยวให้ละเอียด อย่ารีบร้อนกลืน ไม่กินขณะนอนราบ ไม่พูดหรือหัวเราะหรือวิ่งเล่นขณะมีอาหารอยู่ในปาก
เมื่อลูกมีอาการแสดงว่ากำลังสำลัก เขาจะมีอาการไออย่างมาก การไอเป็นกลไกการขับสิ่งแปลกปลอมออกจากท่อหลอดลม หากไอออกมาได้สำเร็จ เขาจะหยุดไอและมีอาการเป็นปกติ ในกรณีที่ขับออกไม่สำเร็จ หากสิ่งแปลกปลอมนั้นมีขนาดเล็กอาจลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดปัญหาติดเชื้อในปอดตามมา ทำให้มีไข้ ไอเรื้อรัง (เพราะมีเชื้อโรคติดตามสิ่งของนั้นลงไปด้วย) หรือลงไปอุดในท่อหลอดลมขนาดเล็กทำให้เกิดภาวะปอดแฟบหรือปอดแตกตามมา เด็กจะมีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็วผิดปกติ
แต่ในกรณีที่สิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่พอที่จะอุดท่อหลอดลมขนาดใหญ่ จะทำให้เด็กหายใจไม่ได้โดยเฉียบพลัน ขาดออกซิเจน หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ ขณะที่สมองขาดออกซิเจนได้นานเพียง 4 นาที หากนานกว่านี้ ถึงแม้ปั๊มหัวใจกลับมาได้ สมองไม่ทำงานแล้ว ก็เป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา ดังนั้นการเรียนรู้การช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องสำคัญ
กรณีที่ลูกสำลักสิ่งแปลกปลอมลงไปอุดกั้นท่อหลอดลมจนอากาศเข้าไม่ได้ ลูกจะมีอาการ คือ พยายามไอแต่ไม่มีเสียงไอออกมา หายใจไม่ได้ หน้าเขียว ตาเหลือก ร้องไห้ไม่มีเสียง พูดไม่มีเสียง หรือหมดสติ เป็นกรณีฉุกเฉินที่คุณต้องใช้วิธีการต่อไปนี้ในการทำให้สิ่งอุดกั้นหลุดออก จากหลอดลมโดยด่วน แต่ถ้าลูกยังหายใจได้ พูดได้ ร้องไห้มีเสียง ห้ามไม่ให้คุณพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออกด้วยตัวเอง ถึงแม้คุณจะเห็นว่าสิ่งนั้นอยู่ในปากลูก เพราะจะเป็นการยิ่งทำให้ของนั้นเข้าไปลึกมากขึ้นจนเข้าไปอุดหลอดลมได้ หรือบางครั้งของนั้นอาจอยู่ในหลอดลมอยู่แล้วแต่ตำแหน่งไม่ได้อุดกั้นร้อย เปอร์เซนต์ (เช่น อยู่ในแนวยาว ไม่ใช่แนวขวาง) การไปพยายามเคลื่อนไหวให้ของนั้นหลุด อาจทำให้เปลี่ยนลักษณะเป็นการอุดกั้นร้อยเปอร์เซนต์ได้ ให้คุณพยายามปลอบลูกไม่ให้ตกใจและรีบพาไปพบแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยสังเกตการหายใจของลูกอย่างใกล้ชิด เว้นแต่ว่าระหว่างเดินทางไปรพ. คุณพบว่าลูกมีอาการเปลี่ยนไปเป็นแบบอุดกั้นร้อยเปอร์เซนต์ (จากการกระเทือนอาจทำให้สิ่งกีดขวางเปลี่ยนจากแนวยาวเป็นแนวขวางหลอดลม) คุณจึงต้องช่วยโดยวิธีการต่อไปนี้ (การเรียนรู้ภาคปฏิบัติหรือ workshop จะง่ายกว่าการเรียนจากตัวหนังสือ คุณสามารถติดต่อขอรับการอบรมได้ตามโรงพยาบาลที่มีการจัดอบรม)
วัตถุประสงค์ของโพสต์นี้ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เช่นการเลือกของเล่น การเก็บของอันตรายให้พ้นมือเด็ก และการสังเกตอาการเบื้องต้น อ่านแค่ 5 ย่อหน้าแรก ก็พอแล้วค่ะ
ส่วนที่เหลือ ถ้าอยากเรียนรู้เพื่อทำให้เป็น ก็ดู youtube ที่คุณ Paeng ลิงค์มาให้ ร่วมกับอ่านข้อความประกอบ ตามที่หมออธิบายไว้ตามข้างล่าง เพราะถ้าดูจาก youtube จะบรรยายเป็นภาษาอังกฤษศัพท์ทางการแพทย์ ถ้าอ่านคำอธืบายประกอบ จะเข้าใจได้ดีขึ้น
ทารกอายุน้อยกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ : บอกให้คนอื่นรีบโทรตามรถฉุกเฉิน ขณะที่คุณกำลังทำการช่วยเหลือ หากไม่มีคนอื่น ให้คุณช่วยไปด้วยพร้อมกับโทรตามไปด้วย (ควรมีเบอร์โทรฉุกเฉินในที่เห็นได้ง่าย เพราะเวลาตกใจจะทำอะไรไม่ถูก)
1.อุ้มทารกนอนคว่ำบนท่อนแขนโดยศีรษะต่ำกว่าลำตัวประมาณ 60 องศา ใช้ต้นขาของผู้อุ้มเป็นที่รองแขน โดยใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประคองบริเวณคางเพื่อบีบให้อ้าปากไว้
ใช้ส้นมืออีกข้างทุบแรงๆบริเวณกึ่งกลางของหลังระดับแนวกระดูกสะบัก ติดกัน 5 ครั้งเร็วๆ (back blows)
2.หากสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุด (ทารกยังไม่หายใจ ยังไม่ไอหรือสิ่งแปลกปลอมยังไม่หลุดออกมา) ให้จัดท่าเป็นนอนหงาย ศีรษะต่ำกว่าลำตัว ใช้นิ้วชี้และกลางของมือข้างที่ถนัดกดที่กระดูกกลางหน้าอกระดับที่ต่ำลง 1 ซม.จากเส้นที่ลากระหว่างหัวนมทั้งสองข้างของทารก โดยกดลึกประมาณ 1-2 ซม. 5 ครั้งห่างกันนานครั้งละ 1 วินาที (chest thrusts)
หากยังไม่หลุด ให้กลับไปทำ ข้อ 1 สลับกับข้อ 2 จนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา หรือหากทารกหมดสติ ให้ทำการช่วยเหลือดังนี้
3.ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่หรือไม่ ถ้าเห็นสิ่งแปลกปลอม ให้ใช้นิ้วชี้เพียงนิ้วเดียวเข้าไปที่มุมปากด้านหนึ่งกวาดเข้าไปตามกระพุ้ง แก้มแล้วเกี่ยวสิ่งแปลกปลอมออกมา ห้ามใช้สองนิ้วเข้าไปเพื่อพยายามคีบออกมาเพราะจะเป็นการดันให้เข้าไปลึกยิ่ง ขึ้น (ห้ามทำในกรณีที่ไม่หมดสติ เพราะเด็กอาจดิ้นรนจนสิ่งแปลกปลอมลงลึกยิ่งขึ้น)
4.หากไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม จัดท่าให้ทารกนอนหงาย ลำคอตรงไม่ก้มหรือแหงนมากเกินไป เพื่อเปิดช่องทางเดินหายใจให้สะดวก ตรวจดูว่าทารกหายใจหรือไม่ หากพบว่าไม่หายใจให้ทำการเป่าปากและจมูกเพื่อช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดยเป่าแรงพอที่จะเห็นทรวงอกขยาย แล้วตรวจดูว่าเด็กหายใจได้เองหรือยัง หากยัง ให้ทำซ้ำ ข้อ1 , 2 และ 4 ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีทีมฉุกเฉินมาช่วยเหลือ
เด็กอายุมากกว่า 1 ขวบที่ยังไม่หมดสติ : โทรตามรถฉุกเฉินทันที ขณะที่คุณทำการช่วยเหลือดังนี้
1.ยืนหรือคุกเข่าอยู่ด้านหลังของเด็ก ใช้แขนสองข้างโอบรอบเอว โดยมือข้างหนึ่งกำเป็นกำปั้นด้านนิ้วโป้งวางอยู่ใต้กระดูกลิ้นปี่แต่เหนือ สะดือเล็กน้อย วางมืออีกข้างทับบนกำปั้น แล้วออกแรงกดมือทั้งสองเข้าไปในท้องโดยพยายามดันมือขึ้นมาทางด้านบนในขณะ เดียวกัน เพื่อเป็นแรงกระแทกให้สิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดขึ้นมา หรือทำซ้ำจนกว่าเด็กจะไอหรือหายใจได้เอง (Heimlich maneuver)
แต่หากเด็กหมดสติให้ทำการช่วยเหลือดังนี้
ตรวจดูในปากว่ามีสิ่งแปลกปลอมอุดตันหรือไม่ แล้วใช้วิธีเดียวกับเด็กทารกในการนำออกมา
2.หากไม่พบสิ่งแปลกปลอมในปาก ให้วางเด็กนอนราบกับพื้น นั่งคร่อมลำตัวเด็กโดยผู้ช่วยเหลือหันหน้าไปด้านศีรษะของเด็ก วางส้นมือทับซ้อนกันที่ตำแหน่งต่ำกว่ากระดูกลิ้นปี่แต่เหนือระดับสะดือ ดันมือเข้าไปในท้องพร้อมกับยันไปที่ทิศทางด้านศีรษะ ของเด็ก ทำซ้ำ 6-10 ครั้งจนกว่าสิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมา
3.หากไม่หลุดหรือเด็กยังไม่หายใจ ให้ทำการช่วยหายใจ โดยการใช้นิ้วบีบจมูกแล้วเป่าลมเข้าปาก 2 ครั้ง โดยแรงพอที่จะทำให้ทรวงอกขยาย สลับกับการทำซ้ำข้อ 2 จนกว่าทีมฉุกเฉินจะมาช่วยเหลือ
และถึงแม้สิ่งแปลกปลอมจะหลุดออกมาแล้ว และเด็กหายใจได้เอง คุณก็ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจโดยละเอียดจากแพทย์อีกครั้ง หนึ่ง