1.ห่อตัวลูกด้วยผ้า : ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนอยู่ในที่แคบๆในมดลูกของคุณแม่ คำถาม คือ ต้องห่อแน่นขนาดไหน คำตอบ คือ แน่นพอที่แขนและขาจะไม่หลุดออกมา
2.ลองเปลี่ยนท่าอุ้ม : ถ้าอุ้มนอนหงายไม่เวิร์ค (เหมือนแมลงสาบนอนหงายท้อง) ลองเปลี่ยนเป็นท่านอนคว่ำ (เหมือนท่าบินของซุปเปอร์แมน ดังรูปตัวอย่าง แขนที่สอดอยู่ใต้พุงของลูก จะช่วยลดอาการปวดท้องได้ เหมือนเวลาที่เรารู้สึกปวดท้องแล้วเอามือกดท้องไว้ อาการปวดจะน้อยลง)
3.เสียงหึ่งๆ (white noise) : เลียนแบบเสียงหึ่งๆที่ลูกได้ ยินตอนอยู่ในท้อง เช่น เสียงพัดลม เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงจากวิทยุที่หมุนไม่ตรงคลื่น เดี๋ยวนี้มีเสียงเหล่านี้ให้โหลดฟรีได้จาก App ในไอโฟน โดยพิมพ์คำว่า "white noise"
4.ใช้จุกหลอก : เด็กแรกเกิด 3 เดือนแรก มีความสุขกับการได้ดูด ได้ขยับปากตลอดเวลา ถ้ากินนมจนพุงปลิ้นพุงกางแล้ว แต่ยังไม่ยอมหยุดดูด ให้ใช้จุกหลอกได้ นอกจากนี้งานวิจัยพบว่า จุกหลอกช่วยลดความเสี่ยงในการเป็น SIDS ได้ด้วย
5.ทำเสียงชู่วววว์ : ทำเสียงแบบนี้ใกล้ๆหูลูกที่กำลังร้องไห้ อาจทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้
6.พาขับรถเล่น : ตอนอยู่ในท้อง ลูกมีการเคลื่อนไหวลอยไปลอยมาในน้ำคร่ำ จึงเคยชินกับการเคลื่อนไหว ถ้าลูกร้องไห้มาก ลองอุ้มลูกโยกไปมาช้าๆ นั่งเก้าอี้โยกเยก เดินย่ำขาไปมาเหมือนเดินขึ้นลงบันได การพาขับรถเล่นก็เป็นวิธีที่หลายคนใช้ได้ผล แต่ปัจจุบันค่อนข้างสิ้นเปลืองน้ำมัน และ เปลืองเวลาเพราะรถติด
7.นวดสัมผัสรักทารก : ทารกชอบการสัมผัส เนื้อแนบเนื้อ การศึกษาพบว่า ทารกที่ได้รับการนวด จะร้องไห้น้อยกว่าและนอนหลับได้ดีกว่า และเวลาที่คุณนวดลูก จะช่วยให้อารมณ์ของคุณผ่อนคลายลงด้วย
8.อุ้มลูกเดินไปมา : โดยใช้เป้หรือแถบผ้ายาวคาดตัวลูกไว้กับตัวแม่ จะช่วยลดอาการเมื่อยล้าแขนที่ต้องอุ้มลูกไว้ตลอดเวลา หรือ มีมือว่างพอที่จะทำงานอื่นได้ เช่น ทำแซนวิชกิน
9.จับเรอ : ลูกที่ร้องไห้เยอะ จะมีลมเข้าท้องเยอะ ทำให้ปวดท้อง และ ร้องไห้มากขึ้น ท่าจับเรอที่ได้ผล คือ อุ้มลูกตัวตั้งขึ้นให้ศีรษะลูกข้ามบ่าไปเลย ข้อเสีย คือ ลูกอาจแหวะนมออกมาเลอะหลังของผู้อุ้ม อีก 2 ท่า คือ จับนอนขวางพาดคร่อมที่หน้าตัก และ ท่านั่งบนตักโน้มลำตัวไปด้านหน้า
10.ขอเวลานอก : การผจญกับเด็กร้องไห้มาก หรือ ร้องโคลิคทุกๆคืน คืนแล้วคืนเล่า เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณจะรู้สึกท้อแท้ และรู้สึกหมดหวัง ถ้าคุณลองทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล สิ่งที่ควรทำอันดับต่อไป คือ การขอเวลานอก ส่งลูกให้คู่สมรส หรือ ญาติในบ้าน แต่ถ้าไม่มีคนมาช่วย จำไว้ว่า การปล่อยให้ลูกร้องไห้ในเตียง ขณะที่คุณปลีกตัวไปพักผ่อนบ้าง เป็นเรื่องที่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
ข้อสุดท้าย คือ ถ้าคุณรู้สึกว่า การร้องไห้ของลูก ไม่น่าจะเป็นการร้องไห้แบบธรรมดาสามัญเสียแล้ว อย่ารีรอที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุการร้องไห้ที่ผิดปกติ ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ เป็นเพียงแค่เด็กบางคนร้องไห้มากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง ดังนั้น ครั้งต่อไปที่ลูกร้องไห้คร่ำครวญ ให้จำไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก เรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของคุณ คุณไม่ได้ทำอะไรผิด และประการที่สอง ความยากลำบากแบบนี้ จะไม่ได้เป็นตลอดไป