เมื่อ ลูกเกิดใหม่ๆ เรามักรู้สึกว่าดาวเด่นก็คือ แม่และลูก แล้วพ่อหล่ะ ถึงแม้ว่าพ่อจะไม่ได้คลอดลูกเอง แต่พ่อก็มีความกลัวและตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าผู้เป็นแม่ และอาจจะมากกว่าแม่ด้วยซ้ำ เพราะผู้เป็นพ่อส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้ว่าที่จริงแล้ว ตัวเองควรจะทำอะไรบ้าง ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้คุณพ่อเก่งขึ้น
1.เตรียมตัวเตรียมใจ : อ่านหนังสือ หาข้อมูลความรู้เรื่องการตั้งครรภ์และทุกเรื่องเกี่ยวกับทารกในครรภ์ ไม่ใช่เฉพาะคุณแม่เท่านั้นที่ควรอ่าน ข้อมูลใ
ดๆ ก็ตามที่พูดถึง “คุณแม่” นั่นหมายถึง “ทั้งพ่อและแม่” เวลามีการสอนอบรม เช่น ฝึกการหายใจและการเบ่งคลอด คุณพ่อก็ช่วยเรื่องการนวดหลังบรรเทาปวดได้ เข้าคอร์สฝึกอบรมการช่วยกู้ชีพ ยิ่งเรื่องความรู้เรื่องนมแม่ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ถ้าคุณพ่อได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของนมแม่ อันตรายของนมผง คุณพ่อจะเป็นกำลังใจที่สำคัญให้คุณแม่ฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามต่อความสำเร็จใน การให้นมแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นผู้อธิบายให้กับผู้ใหญ่ฝ่ายคุณพ่อเข้าใจ หากผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย และอยากให้ใช้นมผง
2.เป็นผู้ช่วยคุณแม่ : หลังคลอด คุณแม่จะเหนื่อยและอ่อนเพลียอย่างมาก และถ้าวันรุ่งขึ้น คุณแม่นำลูกมาเลี้ยงที่ห้องเอง ที่เรียกว่า Rooming in ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก็จะเป็นวันเริ่มต้นที่คุณแม่จะอดหลับอดนอน ดังนั้นคุณพ่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคุณพ่อจะเป็นผู้ช่วยคุณแม่ ตอนที่ยังเจ็บแผล ลุกขึ้นไม่สะดวก คุณพ่อจะช่วยอุ้มลูกมาให้ ช่วยแจ้งพยาบาลเวลาคุณแม่รู้สึกปวดแผล ช่วยพยุงคุณแม่ไปเข้าห้องน้ำ
การสร้างความผูกพันที่ดีอย่างหนึ่ง และ ช่วยให้การให้นมแม่สำเร็จง่ายขึ้น คือ การอุ้มลูกแบบจิงโจ้ (kangaroo) คือ การวางลูกไว้ที่หน้าอกของคุณแม่โดยไม่มีเสื้อผ้าขวางกั้น แต่ถ้าคุณแม่ยังเหนื่อยอยู่หรือต้องการพักผ่อน คุณพ่อก็สามารถทำหน้าที่นี้แทนได้ คุณพ่อควรฝึกอุ้มลูกหลายๆท่า โยกเยก หรือ เซิ้งไปกับลูกหลายๆแบบ เพื่อค้นหาวิธีที่ช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้ สงบ และ หลับได้ ซึ่งถ้าค้นพบแล้ว คุณพ่อจะรู้สึกได้ถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับการประสบความสำเร็จ ในภาระกิจที่ยากๆที่เคยทำมาเลยทีเดียว
3.วางแผนลาพักร้อนหลังคลอด : ช่วงเวลาที่ยากที่สุดในการดูแลทารก คือ หกสัปดาห์แรก ประเทศที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรมนุษย์และเน้นเรื่องนมแม่ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก จะให้คุณแม่ลาคลอดได้นาน และ คุณพ่อได้ลาหลังคลอดด้วย โดยได้รับเงินเดือนตามกฏหมาย และไม่นับเป็นวันลาพักร้อน ส่วนประเทศไทยตอนนี้คุณพ่อมีสิทธิ์ลาได้ 15 วันค่ะทั้งรัฐบาลและเอกชน
หลายคนมีข้อสงสัยว่า ถ้าผู้ชายลาคลอดแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ภาระหน้าที่ช่วงที่ลูกแรกเกิดนั้นมีมาก เพราะสุขภาพของคุณแม่จะต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัวอย่างน้อย 1 เดือน โดยในช่วงนี้คุณพ่อก็ต้องคอยช่วยเหลือทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการซักเสื้อผ้าของคุณแม่และผ้าอ้อมของลูก ตลอดจนงานบ้านสารพัดอย่าง การช่วยภรรยาเลี้ยงลูกนั้น เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง มากกว่าน่าอาย การสร้างค่านิยมขึ้นมาใหม่ว่า การทำงานบ้านเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก รวมถึงปรับความเข้าใจว่าการที่ผู้ชายสามารถลาคลอดได้นั้น ผลในระยะยาวที่จะตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ ครอบครัวมีความอบอุ่น การที่คุณพ่อมีเวลาคอยดูแลและช่วยเหลือคุณแม่หลังคลอด ยังมีผลทำให้มีความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
เมื่อพ่อกลับไปทำงานแล้ว แม้ต้องอยู่ห่างไกลลูก ความผูกพันยังสานต่อได้ด้วยการที่คุณแม่ส่งเมล์ความเป็นไปของลูกในแต่ละวัน ให้คุณพ่อได้ดู เพื่อให้คุณพ่อรู้สึกใกล้ชิดลูกเช่นเดียวกับคุณแม่ที่ได้อยู่เลี้ยงลูกตลอด เวลา และเมื่อกลับจากที่ทำงานแล้ว คุณพ่อก็รับหน้าที่พาลูกออกไปเดินเล่น ขณะที่คุณแม่จะได้มีเวลาพักผ่อนเงียบๆบ้าง คุณพ่อไม่ต้องกลัวว่าเวลาอุ้มลูกแล้ว ลูกไม่คุ้นเคยจะร้องไห้มาก ทำให้ไม่อยากอุ้มลูก วิธีแก้ไข คือ ฝึกอุ้มบ่อยๆ จะดีขึ้นเรื่อยๆแน่นอนค่ะ
4.ใกล้ชิดลูกให้มากที่สุด : การสร้างความผูกพันกับทารกแรกเกิดไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ช่วงแรกๆลูกยังไม่แสดงอาการสนองตอบ แต่ขอให้ทำต่อไป เพราะในวันหนึ่งที่ลูกสบตาคุณแล้วส่งเสียงโต้ตอบกับคุณ จะเป็นวันที่คุณรู้สึกว่า ช่างเป็นวันที่ยอดเยี่ยมจริงๆ
คุณพ่อส่วนใหญ่ถนัดในการเล่นกับลูก แต่ไม่ค่อยถนัดในการปลอบโยนลูกเวลาร้องไห้ เพราะคิดว่าคุณแม่ทำได้ดีกว่า แต่ที่จริงแล้ว คุณพ่อก็มีเวทย์มนต์ทำให้ลูกหยุดร้องไห้ได้เช่นกัน เช่น การมีเสียงที่ทุ้ม การมีมือใหญ่ที่ห่อตัวลูกได้หนาแน่น และเป็นกำลังหนุนช่วยเหลือเวลาที่คุณแม่รู้สึกเหนื่อย อดนอน และ เครียดมากแล้ว
5.มีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ : เพราะว่าคุณแม่เหนื่อยจากการต้องตื่นบ่อยๆเพื่อให้นมลูก คุณพ่อช่วยรับหน้าที่ในการดูแลลูกด้านอื่นๆได้ เช่น อาบน้ำ ล้างก้น เปลี่ยนผ้าอ้อม จับเรอ อำนวยความสะดวกเรื่องอาหารการกินของคุณแม่ เป็นต้น
เมื่อลูกอายุ 1-2 เดือน ดูดเต้าเก่งแล้ว คุณพ่อช่วยป้อนนมแม่จากขวดได้วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน ถึงแม้ว่าลูกจะไม่ยอมกินในตอนแรก ก็ให้ฝึกไปเรื่อยๆจนเคยชิน
6.เป็นอารมณ์ขันให้กับคุณแม่ : เพราะคุณแม่อาจมีความทุกข์ใจจากข้อมูลมากมายที่ค้นคว้ามา ร่วมกับความวิตกกังวลตามประสาคุณแม่มือใหม่ และ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอด คุณพ่อจะเป็นผู้ช่วยทำให้ระดับความเครียดของคุณแม่ลดลงได้อย่างมาก
ป้าหมอขอเป็นกำลังใจให้แก่คุณพ่อทุกท่านที่ช่วยคุณแม่ดูแลลูกค่ะ
รูปภาพ : น้องภริมกับคุณพ่อแอนดี้